วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รายงานการเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง


รายงานการเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง

วันที่ 8 มิถุนายน 2553


ข้อมูลทั่วไป


มหาวิทยาลัยฮ่องกงมีห้องสมุดหลัก และห้องสมุดเฉพาะเช่น ห้องสมุดแพทย์ ห้องสมุดดนตรี ในที่นี้เป็นข้อมูลของห้องสมุดกลาง ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 เป็นอาคารเอกเทศขนาดใหญ่ 6 ชั้นแบ่งเป็นปีกตึกเก่า และตึกใหม่ มีที่นั่งประมาณ 1,600 ที่นั่ง โดยมีการปรับปรุงล่าสุดให้พื้นที่โถงชั้นล่างเป็น Knowledge Navigation Centre (KNC) ในลักษณะ One stop shop ให้บริการการใช้งานคอมพิวเตอร์ประมาณ 130 เครื่อง ใช้ระบบห้องสมุด INNOPAC ใช้ RFID ใช้เครือข่าย WiFi มี self check 5 เครื่อง มีการแบ่งโซนการให้บริการเป็นโซนสีเหลือง (อนุญาตให้มีเครื่องดื่ม แต่ไม่อนุญาตให้กินอาหาร หรือใช้เสียง) สีเขียว ( อนุญาตให้กินอาหารว่างได้) และสีแดง (อนุญาตเฉพาะน้ำ) ห้องสมุดเป็นห้องสมุดเก่าแก่ มีหนังสือมาก แต่มีการใช้งานอุปกรณ์เก่าและใหม่ผสมผสาน เช่นมีชั้นเก็บหนังสือที่ควบคุมการเลื่อนด้วยไฟฟ้า การปรับปรุงชั้นดาดฟ้าให้เป็นสวน การนำชิ้นงานศิลปะมาจัดแสดงในห้องสมุด ห้องสมุดนี้ไม่เปิดบริการแก่คนภายนอก




การให้บริการ

นอกเหนือจากการให้บริการของห้องสมุดตามปกติ รวมถึงการให้บริการสื่ออิเลคทรอนิคส์ ห้องไมโครฟิมล์ ไมโครฟิช ห้องสมุดหนังสือหายาก สิ่งอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่

- บริการยืมหนังสือ นักศึกษาปริญญาตรียืมได้ 60 เล่มเป็นเวลา 60 วัน Postgraduate ยืมได้ 180 เล่มเป็นเวลา 120 วัน อาจารย์ยืมได้ 400 เล่มเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้หนังสือในห้องสมุดมีประมาณ 2.7 ล้านเล่ม

- บริการถ่ายเอกสาร และใช้เครื่องพิมพ์ การถ่ายเอกสารคิดค่าใช้บริการ 30 เซ็นต์ต่อหน้า นักศึกษาสามารถใช้บัตรเงินสด Octopus ได้

- Knowledge Navigation Centre เป็นที่ค้นคว้าด้วยคอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถใช้งานเพื่อทำการบ้านหรือค้นข้อมูลได้ มีเครื่องสแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์

- E-Learning Lab เป็นห้องประชุม ห้องอบรม มีโน้ตบุ๊กประจำห้อง 46 ที่นั่ง

- 24-Hour Group Study Area เป็นห้องที่นักศึกษาสามารถใช้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง สามารถนอนในบริเวณได้ มีตู้กดเครื่องดื่มและอาหารว่างให้บริการ

ตารางเปรียบเทียบระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยฮ่องกง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Knowledge Navigation Centre (KNC) ในลักษณะ One stop shop ประมาณ 130 ที่นั่ง

Self Assessment room จำนวน 2 ห้อง ให้บริการในลักษณะเดียวกัน ประมาณ 80 ที่นั่ง

Self check 5 เครื่อง

Self check 2 เครื่อง เพิ่งให้ใช้บริการได้ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2553

E-Learning Lab

ไม่มี e-learning lab เฉพาะ แต่ใช้ห้องSelf assessment และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของศูนย์คอมพิวเตอร์

บริการถ่ายเอกสาร และใช้เครื่องพิมพ์ โดยใช้บัตรเงินสด

กำลังอยู่ระหว่างการจัดหา คาดว่าจะใช้บริการได้ประมาณเดือนตุลาคม 2553 (ในกรณีให้บริการโดยไม่ใช้บัตรเติมเงิน มีบริการอยู่แล้ว)

24-Hour Group Study Area

ยังไม่มีการให้บริการ 24 ชั่วโมง (ภาคการศึกษาที่ผ่านมาเริ่มทดลองให้บริการถึงเที่ยงคืนในช่วงก่อนสอบ มีผลการตอบรับดี)

ข้อเสนอแนะ

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นห้องสมุดเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์คงไม่สามารถให้บริการได้ในสเกลเดียวกัน แต่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระดับเดียวกันได้ สิ่งที่สามารถดำเนินการต่อเช่น การใช้ RFID การให้บริการถ่าย/พิมพ์เอกสารด้วยตนเอง การปรับเวลาให้บริการ ในส่วนอื่นๆมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในสเกลที่เล็กกว่าเท่านั้น



วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาตลอดชีวิต

30 พฤศจิกายน 2553 ประชุมร่วมกับอาจารย์จากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

เพื่อชี้แจงโครงการและจัดเตรียมการจัดทำหลักสูตรเทคนิคการดูแล

ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ได้ขอให้อาจารย์ศึกษาข้อมูลในเว็บของ TCU

และสมัครเรียนก่อนเพื่อดูลักษณะของงาน

ประชุมครั้งต่อไปกำหนดเป็นวันที่ 6 มกราคม 2554

เวลา 13:00 น. -15:00น.

11 พฤศจิกายน 2553 ขอคำปรึกษาจาก ดร. อนุชัย/TCU


21 ตุลาคม 2553 ประชุมเครือข่าย TCU


5 ตุลาคม 2553 ทราบว่าโครงการได้รับการอนุมัติ


มิถุนายน 2553

ตอนนี้มีงานเข้าเรื่องการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เป็นโครงการที่เสนอให้

มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพิ่งได้ข้อมูลมาวันที่ 22 เมื่อวานก็เขียนโครงการ

ให้ศูนย์คอมนำไปประสานก่อน ต่อไปต้องเข้าไปร่วมทำงานด้วย

ข้างล่างนี้เป็นบันทึกข้อความนำเสนอเรื่องและต่อไปก็เป็นตัวโครงการที่

เสนอขอการสนับสนุน


บันทึกข้อความ

เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนในเรื่องการเสนอโครงการเพื่อต่อยอด

เกี่ยวกับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล

และการสื่อสาร ซึ่งหากโครงการผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัย

ไซเบอร์ไทย จะใช้งบในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปในเฟสแรกไม่เกิน

หนึ่งล้านบาท เครือข่ายมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการโครงการพัฒนา

ความรู้และการศึกษาตลอดชีวิต จำนวน5 หลักสูตร โดยกิจกรรมที่

ดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา การจัดการเรียนการสอน

และให้บริการ การพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในเครือข่าย และการ

พัฒนาบุคลากรการศึกษา


ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ประสานงานและเสนอให้มีเครือข่ายย่อยชื่อ เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน (กำลังขอจัดตั้ง) และดำเนินการร่างโครงการตามข้อตกลงจากการประชุมเครือข่ายในส่วนการจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา และการพัฒนาบุคลากรเพื่อผลิตสื่อออนไลน์ เพื่อเสนอโครงการนี้ขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย



โครงการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเรียนการสอนออนไลน์

เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน

----------------------------------------------------------------------

ความเป็นมา

ตามที่ได้มีการดำเนินการร่วมกันภายในเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัย และวิทยาลัย จำนวน 9 แห่ง เพื่อจัดการศึกษาตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีทางไกลและแบบผสมผสานในห้องเรียน และเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาระหว่างเครือข่ายและมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เครือข่ายมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการโครงการพัฒนาความรู้และการศึกษาตลอดชีวิต จำนวน 5 หลักสูตร โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา การจัดการเรียนการสอนและให้บริการ การพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในเครือข่าย และการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

สถาบันการศึกษาในเครือข่ายจำนวนหนึ่งมีความพร้อมระดับหนึ่งในการดำเนินการ และบางสถาบันยังขาดความพร้อมเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร อย่างไรก็ตามทุกสถาบันเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน คนทำงานที่ต้องการพัฒนาความรู้เพิ่มเติมและนักศึกษา เพื่อการดำเนินการไปสู่เป้าหมายจึงเห็นควรให้มีการดำเนินการเป็นลำดับโดยเริ่มจากการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการผลิตสื่อ ด้านการดูแลระบบ ด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้

เครือข่ายจึงพัฒนาโครงการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ได้หลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินการต่อไปได้

ผู้รับผิดชอบโครงการ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน

รายละเอียดการดำเนินการ

1. การพัฒนาหลักสูตร

1.1. พัฒนาเนื้อหารายวิชาที่มีที่สอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาค

1.2. ผลิตสื่อการสอนออนไลน์ของหลักสูตร

1.3. เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในลักษณะออนไลน์

2. การพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตสื่อและการจัดการเรียนการสอน

2.1. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมอาจารย์ผู้สอน

2.2. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมผู้ดูแลระบบ

2.3. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมผู้สนับสนุนการผลิตสื่อ

ตัวชี้วัด

1. หลักสูตร

1.1. มีหลักสูตร เนื้อหาวิชา และสื่อการสอนออนไลน์ จำนวนอย่างน้อย 5 วิชาๆ ละ 15 ชั่วโมง

1.2. มีสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2. การพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตสื่อและการจัดการเรียนการสอน

2.1. มีหลักสูตรอบรมพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนการสอนออนไลน์จำนวนอย่างน้อย 2 หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงการอบรม

2.2. มีหลักสูตรอบรมผู้ดูแลระบบ จำนวนอย่างน้อย 1หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงการอบรม

2.3. มีหลักสูตรอบรมผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ จำนวนอย่างน้อย 2หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงการอบรม

2.4. มีผู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการตามกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นบุคลากรของสถาบันในเครือข่ายหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

2.4.1. อาจารย์ผู้สอน 50 คน

2.4.2. ผู้ดูแลระบบ 30 คน

2.4.3. ผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ 50 คน

งบประมาณในการดำเนินการ

1. พัฒนาหลักสูตรและจัดทำรายวิชาจำนวนอย่างน้อย 5 วิชา คิดเป็น 150,000 บาท

2. จัดทำสื่อการสอน 5 หลักสูตรๆ ละ 60,000 บาท คิดเป็น 300,000 บาท

3. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมอาจารย์ผู้สอน 150,000 บาท

4. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมผู้ดูแลระบบ 100,000 บาท

5. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมผู้ผลิตสื่อการสอน 150,000 บาท

6. ประชาสัมพันธ์และนำสื่อเข้าระบบเพื่อทดสอบ 150,000 บาท

รวม __ 1,000,000 บาท

หมายเหตุ ถัวจ่ายทุกรายการ

ระยะเวลาดำเนินการ

กรกฏาคม 2553 มีนาคม 2554

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. มีหลักสูตรและรายวิชาสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนและผู้ต้องการศึกษา

2. มีสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ต้นแบบ

3. สถาบันในเครือข่ายสามารถใช้สื่อที่จัดทำขึ้นในการเรียนการสอนของสถาบันผ่าน e-Learning

4. มีระบบสนับสนุนอาจารย์ผู้สอนในการจัดทำหลักสูตร รายวิชา และผลิตสื่อการเรียนการสอน

5. มีเครือข่ายผู้ดูแลระบบเพื่อสนับสนุนการดูแลระบบในเครือข่าย

6. มีเครือข่ายผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ที่สามารถช่วยการผลิตรายวิชาอื่นในอนาคต

====================================================