วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อการประชุม 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด: อุตรดิตถ์โมเดล



วันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554 ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยในวันแรกได้รับฟังการบริหารจัดการอุตรดิตถ์โมเดลในภาพรวมทั้งหมด โดยมีกระบวนการ world cafe เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะ RICN ในวันที่สองกระบวนการซ้ำกับวันแรกจนเกือบเที่ยงจึงมีเนื้อหาที่ต่างๆปคือมีการปาฐกถาพิเศษ มหาวิทยาลัย...พลังแก้วิกฤติชาติ” จะขอสรุปประเด็นแบบง่ายๆเฉพาะใน 5 ประเด็นตามนี้ค่ะ
1. งานนี้ทำอะไร เราเกี่ยวข้องอะไร
2. อุตรดิตถ์โมเดลคืออะไร ระดับนโยบายจัดการอย่างไร
3. การออกแบบระบบการทำงานเชิงพื้นที่ทำอย่างไร
4. มวล.จะทำอะไร
5. ข้อคิดจาก ศ.นพ. ประเวศ วะสี
1. งานนี้ทำอะไร เราเกี่ยวข้องอะไร
งานนี้ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)เป็นผู้จัดการประชุมขึ้นเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย โดย สสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้พัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นแนวปฏิบัติที่ดี จึงได้นำเสนอให้สถาบันการศึกษาต่างๆได้เห็นการบริหารจัดการซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมากในการทำงานเพื่อท้องถิ่น การประชุมครั้งนี้จึงมีหัวข้อการนำเสนอเป็นเรื่อง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด: อุตรดิตถ์โมเดล
2. อุตรดิตถ์โมเดลคืออะไร ระดับนโยบายจัดการอย่างไร
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดตถ์ ผศ. สิทธิชัย หาญสมบัติ ได้บรรยายภาพรวมการทำงานให้เห็นภาพว่า มรภ. ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.ให้ตัดทำโครงการ ทำจนได้ข้อมูลของแต่ละตำบล ใช้ทุกยุทธศาสตร์ บูรณาการพันธกิจเพื่อให้ทำงานครั้งเดียวได้ผลหลายอย่าง เช่น สำหรับผู้สอน อาจารย์จะทำแผนการสอนที่เชื่อมโยงว่าจะนำนักศึกษาลงพื้นที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้นอย่างไร แล้วนำข้อมูลย้อนกลับไปยังพื้นที่นั้นๆ เป็นนโยบายที่อธิการบดีชี้แจงเรื่องนี้ทุกครั้ง ให้งบเป็น Block grant ให้ใช้ในการลงพื้นที่ ทำหลายปี อาจารย์จะชำนาญขึ้น
นอกจากการบูรณาการยังช่วยโดยการคิดภาระงาน ให้อาจารย์ที่สอนน้อยแต่ลงพื้นที่มากก็คิดภาระงานให้ เทียบเกณฑ์เหล่านี้กับภาระการสอนว่าเทียบได้เท่าใด ถ้าเกิดกว่าภาระงานปกติจะมีค่าตอบแทนให้
งานวิจัยที่ขอทุนได้แล้วจะได้รางวัลเรื่องละสองหมื่น เป็นนโยบายจูงใจให้คนทำงาน
ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัย โดยมรภ จะหาทางแก้ไขและหาคน เพื่อช่วยเหลือ ในรายละเอียดแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ในแต่ละตำบลจะมีอาจารย์ทุกคณะไปร่วมกันพัฒนา การทำงานเป็นทีมแบบนี้ทำให้การทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดี
3. การออกแบบระบบการทำงานเชิงพื้นที่ทำอย่างไร
รศ.ดร. ฉัตรนภา พรหมมา แกนนำคณะทำงานอุตรดิตถ์โมเดลได้อธิบาย “การออกแบบระบบการทำงานเชิงพื้นที่” ว่าที่นี่เป็นลูกศิษย์อ.หมอประเวศ ซึ่งแนวทางทำงานเป็นแนวเดียวกันอยู่แล้ว ได้ออกแบบเพื่อผูกโยงคนดีๆให้ทำงานเป็นระบบไม่ขึ้นกับคน เมื่อคนเก่าออกไป คนใหม่จะทำงานต่อเนื่องได้ เป็นการบริการบูรณาการเชิงพื้นที่
คณบดีทุกคณะลงนามความร่วมมือกับตำบล 3 ตำบล แต่ละคณะจะมีหน่วยจัดการงานวิจัย(RMU)
โมเดลที่นี่ใช้ RICN
R Researchใช้หน่วยจัดการวิจัยของทุกคณะ เชื่อมโยง
I Integration บูรณาการไม่แต่เฉพาะพันธกิจ ต้องบูรณาการงานสอน งานบริการวิชาการ และรวมไปถึง QA ผลงานจะไม่ใช่ผลงานของคณะ แต่จะเชื่อมโยงกับหลายคณะ เช่น งานของคณะเกษตร แต่มีการจัดการช่วยเรื่องแผนธุรกิจ เครือข่ายโรงเรียนก็ต้องได้ผ่าน QA เช่นกัน อบต.ได้อยู่แล้ว ทุกฝ่าย win-win จึงสามารถมาได้โดยไม่กระทบงานหลัก
C Communication บนฐานข้อมูล มีทั้งเชิงอิเลกทรอนิกส์ และธรรมดา เน้นที่ใช้งานจริง อบต.มีฐานข้อมูลที่ใช้ได้จริง จะได้โจทย์จากฐานข้อมูล
N Network สำคัญมากเพราะจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เหมือนที่อ.หมอประเวศว่าเชื่อมเซลสมอง การต่อท่อถึงกัน เป็นเครือข่ายจะทำให้ได้ผลงานร่วมกัน เป็นต้นทุนที่ต่อยอดขยายผล เสริมพลังสานพลังกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
และในการสืบทอดการทำงานจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ยึดติดกับบุคคล อ.สุภาวินี รองอธิการบดีวิจัยและบริการวิชาการ ได้เล่าให้ฟังถึงการต่องานกันว่า ที่ อ.ฉัตรนภากำหนดระบบ ช่วงนั้นตัวอาจารย์มีส่วนรวมอยู่แล้ว เห็นการทำงานในลักษณะพี่เลี้ยงจากคนที่มีประสบการณ์จะทำให้งานราบรื่นขึ้น เมื่ออาจารย์เข้ามาเป็นรองอธิการบดีก็สามารถทำงานต่อเนื่องได้ มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน ใช้ระบบพี่เลี้ยงในการส่งไม้ต่อ
ทุกมหาวิทยาลัยทำเรื่อง QA ของที่นี่ใช้หน่วยจัดการงานวิจัยคลี่ดูงานของสำนักว่าสามารถตอบสนองตัวชี้วัดใดได้บ้าง เราสามารถตอบตัวชี้วัดได้ทุกตัวของทุกสำนัก คณบดีทุกคณะช่วยวิเคราะห์โดยมีสำนักมาตรฐานของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานปกติไปกับการประกันคุณภาพโดยไม่มีงานเพิ่มเติม ของที่นี่งานวิจัยมีทั้งชนิดตีพิมพ์และเผยแพร่ อาจารย์บางผ่านลงพื้นที่อย่างเดียวอาจจะไม่สามารถนับเป็นผลงานได้ (ทั้งนี้ต้องดูว่าจะมีการปรับในส่วนนี้อย่างไรในอนาคต โดยการขับเคลื่อนของ สกอ.)
4. มวล.จะทำอะไร
จากการที่ทีมผู้เข้าร่วมประชุม( อธิการบดี อ.วันสุรีย์ อ.โอภาส อ.สุธีระ คุณภีม คุณปิยวัชน์และอ.จงสุข) ได้มีการประชุมย่อยซึ่งมีทั้งช่วงเวลาตามกำหนดการในห้องประชุม และได้ประชุมซ้ำเฉพาะกลุ่มเพื่อลงลายละเอียด มีหลายประเด็นที่ร่วมแสดงความเห็นกัน เพราะมองเห็นว่าเป็นโมเดลที่ดี ควรทำ และจริงๆเราต้องตั้งศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัด มีการดำเนินงานต่อเนื่อง
5. ข้อคิดจาก ศ.นพ. ประเวศ วะสี
ในสังคประเทศไทยมีการเปลี่ยนการปกครองจากการรวมศูนย์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายด้านเช่น
1.ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ทั้งๆที่ควรจะจัดการตัวเองได้
2. มีความขัดแย้ง ไม่มีวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมจะรวมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นศีลธรรมไปในตัว ชุมชนถูกทำลายเพราะอำนาจเงิน อำนาจรัฐ อำนาจความรู้ที่ไม่เข้าใจท้องถิ่น ซึ่งส่งผลถึงความขัดแย้งในสังคม
3. ทำให้ระบบราชการอ่อนแอทั้งประเทศ
4. การเกิดคอร์รับชั่น สวิสเซอร์แลนด์ก็เคยมีคอร์รับชั่น แต่หายไปด้วยการแบ่งอำนาจลงสู่ท้องถิ่น
5. ทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย ญี่ปุ่นในอดีตเป็นเช่นนั้น เมื่ออเมริกาเข้ายึดก็ทำการแยกให้มีการปกครองท้องถิ่น อินเดีย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงไม่มีรัฐประหารเลย
มหาวิทยาลัยเป็นพลังทางปัญญา ทำอย่างไรจึงจะออกจากวิกฤตได้ มหาวิทยาลัยมีร้อยกว่าแห่ง ควรมาคิดทำความเข้าใจว่าประเทศของเราล้มเหลวเพราะเหตุใด ประเทศไทยสร้างเจดีย์จากยอดซึ่งไม่ถูก เราควรสร้างเจดีย์จากฐาน ฐานของประเทศคือชุมชน การเปลี่ยนแนวคิดเป็น 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด เจ้าชายสิถธัตถะ ได้มองเห็นชีวิตจริงจึงเกิดจิตสำนึก แต่ไม่มีความรู้จึงต้องไปลองผิดลองถูก กำแพงสถาบันการศึกษาเหมือนกำแพงกั้นเจ้าชายไม่ให้มองเห็นความจริง ไม่เกิดจินตนาการ การที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่จะสามารถรับรู้ความรู้สึกมีความเห็นใจ นำไปสู่การอยากทำงานเพื่อช่วยเหลือ
ความรู้มีสองชนิด คือ ความรู้จากการศึกษาและความรู้ในตัวคนซึ่งได้จากประสบการณ์ชีวิต เราควรเคารพความรู้ในตัวคน ทุกคนจึงจะอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้คนขาดจากรากเหง้า รู้แต่ตัวเอง สิ่งที่กำลังทำในลํษณะอุตรดิตถ์โมเดลนี้เป็นการไปดูความรู้ในตัวชาวบ้าน เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน สสส.สนับสนุนการสร้างองคาพยพที่ดี เปิดพื้นที่ทางสังคมและปัญญา ดลกทั้งโลกต้องเรียนรู้ร่วมกันเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน จึงจะถือว่าเป็นโลกาภิวัฒน์ ไม่มีใครเกษียณได้จากการรับใช้มนุษยชาติ
หมายเหตุ: นพ. กำจร ตติยะกวี รองเลขาธิการ สกอ. ได้กล่าวเสริมในส่วนที่ถูดพาดพิงว่าจะดำเนินการอย่างไรในการให้ค่างานวิจัยเชิงพื้นที่ ทางสกอ.กำลังขับเคลื่อนและต้องการความเห็นจากสถาบันอุดมศึกษา แต่ในท้ายสุดได้ฝากประเด็นคิดไว้ว่า สิ่งที่เราควรตั้งคำถามจากอุตรดิตถ์โมเดลคือ “ทำไมชุมชนจึงวิ่งเข้ามาหามหาวิทยาลัย ทำไมจึงเห็นมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่ง”
30 พฤษภาคม 2554/จงสุข คงเสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น