วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชุมหนุ่มช่าง

วันนี้วันดึ 28 ธันวาคม 2553 หนุ่มๆงานบริการสื่อโสต CLM มาประชุมกัน(โดยนัดหมาย) เพื่อมาสกัดความรู้ในตัวออกมาเป็นหลักเป็นฐาน ที่มาเนื่องจากการที่หนุ่มๆของเรามีความรู้ในตัวกันมากมายแต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะได้มานั่งคิด เรียบเรียงความคิดออกมาให้คนอื่นได้รับทราบและนำความรู้นั้นๆไปใช้ ซึ่งออกจะน่าเสียดาย เพราะประสบการณ์ต่างๆที่มีเป็นสิ่งที่หลายคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ก็เลยถือโอกาสใช้ช่วงปิดภาคเรียน มาลองนั่งทบทวนความรู้ของแต่ละคน ตั้งใจให้เป็นการใช้เวลาแบบสบายๆ ไม่เล็งผลเลิศออกมาเป็นงานมากนัก เพราะการทำให้จิตใจเปิดกว้างและสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองน่าจะเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า บรรยากาศวันนี้ก็เลยออกมาแบบนี้

9:00 น. ห้องประชุม 2 ศูนย์บรรณสาร

หนุ่มๆมาประชุมกันโดยมีน้องเป้า อาภรณ์และน้องกบ บุญเพ็ญมาช่วยให้ข้อมูลในเรื่องการจัดการความรู้และ R2R



http://www.youtube.com/watch?v=eQm5sh3DzTg ลิงก์หนุ่มๆเขาคุยกัน :)







วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประชุมชี้แจงการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2553

การประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ

ห้องประชุม 1 อาคารวิจัย

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2553 9:00 - 12:00 น.

9:25 น. ผศ.ดร. เกียรติกำจร กุศล บรรยาย

เหตุที่ต้องประกันคุณภาพเนื่องจากมี พรบ. การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. /2545 (ดูมาตรา47,48,49,50,และ 51 ) แผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2565) และกฎกระทรวงเน้น QA หลายมาตรา

การประกันคุณภาพภายนอก เน้น output/outcome

การประกันคุณภาพภายใน เน้น process


พรบ.บอกอะไรเราบ้าง

1. บอกว่าประกอบด้วยระบบใด พรบ. การศึกษาแห่งชาติจะบอกว่าระบบ QAประกอบด้วยQAภายในและภายนอก (ม. 47)

2. บอกว่าให้ใครทำ ทำอย่างไร (ม. 48)

3. บอกว่าใครจะมาประเมินและสถานศึกษาต้องทำอย่างไรในการประเมินนั้น (ม. 49และ 50)

4. บอกว่าถ้าประเมินไม่ผ่านจะทำอย่างไร (ม. 51)


อาจารย์เกียรติกำจรให้ภาพรวมเรื่องหลักการในการพัฒนาตัวบ่งชี้ประกันคุณภาพ สกอ. ทั้ง 9 องค์ประกอบ ซึ่งจะประเมินปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ โดยมีความสมดุลระหว่างมุมมองการบริหารจัดการทั้ง 4 ด้านคือ ด้านนักศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านกระบวนการภายใน ด้านการเงิน และด้านบุคลากร การเรียนรู้และนวัตกรรม โดยกระบวนการประเมินมี 4 ขั้นตอนตามระบบพัฒนาคุณภาพ PDCA และในปีะนี้จะต้องทำการประเมินลงถึงระดับหลักสูตร โดยใช้ระบบ CHE Online

ปีนี้ประเมินองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ 9 องค์ประกอบ 25 ตัวบ่งชี้

จากนั้น รศ.ดร. มนตรี อิสรไกรศีล บรรยายต่อ โดยอาจารย์ลงรายละเอียดแต่ละตัวบ่งชี้ว่าเมื่อถูกประเมินจะประเมินจากสิ่งใด ในส่วนนี้ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าแต่ละหน่วยงานทราบว่าควรจะใส่ข้อมูลใด แต่มักจะไม่ได้เก็บข้อมูลนั้นไว้ครบถ้วนล่วงหน้า จึงไม่มีหรือไม่ได้ใส่ทุกอย่างที่ทำ

สามารถดูรายละเอียดคู่มือทั้งหมดได้จากเว็บ สกอ. http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/IQA-on%20web/IQA%20Manual%202010%20(November2010)121153.pdf

และมหาวิทยาลัยจัดทำเอกสารสำหรับการประเมินทั้งของ สกอ. สมศ. และ มวล.

ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันในที่ประชุมจากการชี้แจงและการถามตอบ

1. อาจารย์ธีรยุทธ ชี้แจงให้ทุกหน่วยงานส่งข้อมูลให้เร็วเพราะปีที่แล้วเราช้าไป

2. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสนอตัวเองอยู่ในกลุ่ม ค .2 ( กลุ่ม ค สถาบันเฉพาะทาง หมายความถึง สถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางหรือเฉพาะกลุ่มสาขาวิชา ทั้งสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ สังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสาขาวิชาชีพเฉพาะทาง สถาบันอาจเน้นการทำวิทยานิพนธ์หรือการวิจัย หรือเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะในการประกอบอาชีพระดับสูง หรือเน้นทั้งสองด้าน รวมทั้งสถาบันอาจมีบทบาทในการพัฒนาภาคการผลิตจริงทั้งอุตสาหกรรมและบริการ สถาบันในกลุ่มนี้อาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือ ลักษณะที่ 1 เป็นสถาบันที่เน้นระดับบัณฑิตศึกษา และลักษณะที่ 2 เป็นสถาบันที่เน้นระดับปริญญาตรี)

3. การจัดทำ SAR ลงถึงระดับหลักสูตร

4. อ.ธรรมศักดิ์: ผู้ประเมินไม่รู้จักมหาวิทยาลัย ส่วนกลางต้องทำความเข้าใจกับเขา ฐานข้อมูลกลางต้องมีชัดเจน เราไม่ควรต้องดูรายละเอียดเล็กๆมากนัก เช่น การติดต่อกับศิษย์เก่า ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ เรามีส่วนนี้น้อย ส่วนกลางต้องช่วยมากกว่านี้ อย่าถามทุกอย่างจากสำนักวิชา

5. อ.ชลธิรา: เสริมจาก อ.ธรรมศักดิ์ และห่วงใย สกอ. 2.8 การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้นักศึกษา สกอ.มีแนวปฏิบัติชัดเจนในข้ออื่นยกเว้นข้อนี้ (อ.เกียรติกำจร ชี้แจงว่า เพราะเป็น output ไม่ใช่กระบวนการ)จากเงื่อนไข เกณฑ์ที่มี เราไม่น่าจะทำได้ สายสังคมศาสตร์หนักใจที่จะตอบโจทย์นี้

6. อ.ทิพย์วัลย์: มุมมองผู้ปฏิบัติ เราเหลือเวลาแค่เทอม3 ข้อมูล empirical ไม่มีปัญหา มองต่างจากคณบดีทั้งสองท่าน คือเห็นว่า ความเข้มแข็งอยู่ที่สำนัก สำนักอาจไม่ค่อยตระหนักจึงไปก๊อปของส่วนกลาง สำนักควรมีแผนของสำนัก ส่วนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนกิจการน.ศ. จัดประชุมดูตัวเลขแยกได้รายสำนัก(ส่วนส่งเสริมให้ข้อมูลว่าประชุมแล้ว) อยากเห็นว่าหลักสูตรทำอะไรบ้าง จะทำรวมบริการประสานภารกิจจะฟิตได้ไม่ทั้งหมด เฉพาะบางเรื่องส่วนกิจอาจให้งบที่สำนักไปดูแลเองก็ได้เพราะนักศึกษาแต่ละหลักสูตรมีความต้องการและความเหมาะสมในการดำเนินการต่างกัน)

อ.สุวัจนา : เห็นด้วยกับ อ.ทิพย์วัลย์ มองว่าสำนักต้องใส่ใจในโครงการต่างๆที่ทำ บางเรื่องมองว่ายุ่งยากเพราะไม่รู้ว่าเขาประเมินอย่างไร เช่น การนัดพบศิษย์เก่าและขอข้อเสนอแนะจากศิษย์เก่า ซึ่งเราทำอยู่ ถ้าเราทำเพิ่มอีกเล็กน้อยคือทำเป็นโครงการ ก็จะได้ข้อมูลครบถ้วน บางเรื่องเราอาจทำไม่ได้เพราะผลของมันอาจไม่เกิดขึ้นในปีนั้น มหาวิทยาลัยควรชัดเจนว่างานใดที่ส่วนกลางทำ งานใดสำนักทำ

อ.ธรรมศักดิ์: ชี้แจงให้ชัดเจน เห็นว่างานทั้งหมดเป็นงานของสำนักวิชา แต่การนำเสนอควรต้องเป็นภาพรวม

คุณอวยพร ส่วนส่งเสริม แจ้งว่าวัตถุประสงค์การประชุมวันนี้เพื่อ ให้ทุกคนทราบกลไกในภาพรวม ในการประสานงาน ส่วนกลางควรเป็นตัวเชื่อมโยง ก็ได้ทำการดูข้อมูลร่วมกันกับส่วนกิจ และศิลปวัฒนธรรม จะเป็นข้อมูลกลาง ด้านการวิจัย บริการวิชาการก็จะทำเช่นเดียวกัน สำนักวิชาจะทำโดยไม่รอ template ก็ทำได้ล่วงหน้า

ส่วนรูปข้างล่างนี้ เจ้าสำนักดิฉันเอง บ่งบอกว่าสำนักเราให้ความสนใจเรื่องประกันคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง ลูกสำนักก็พลอยใส่ใจกันเข้มข้นไปด้วย


ส่วนนี่ก็อาจารย์สาวสวยจากศิลปศาสตร์ ผู้ทำหน้าตั้งอกตั้งใจฟังรายละเอียดการบรรยาย


วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Online Information & Education Conference 2010

11 พฤศจิกายน 2553

วันนี้ได้เข้าฟังการประชุมวิชาการระดับชาติ Online Information & Education Conference 2010 จัดสองวัน 11-12 พฤศจิกายน 2553 ที่ห้องประชุมรักตกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต จัดโดย Book Pro มีผู้เข้าร่วมประมาณ 600 คนปีนี้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดการความรู้ ซึ่งต่างจากปีก่อนๆที่เป็น Content based.

ดร. สุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธานเปิดงานและบรรยาย ได้มีคำถามที่น่าสนใจได้แก่

- What makes a University great?

- How are the top universities measured now?

สิ่งที่เน้นคือในเรื่องของ Research output และบทบาทของห้องสมุดในการสนับสนุนการวิจัยได้แก่

1. Supporting research เตรียม content ให้นักวิจัยได้ใช้ ให้ research methodology, research management tool ที่ง่ายกับอาจารย์

2. Facilitate research เช่นให้ข้อมูลในการ publish research paper การทำ archive

3. Commercializing the research

รศ.ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์ ได้ตั้งคำถามว่า ห้องสมุดที่เป็นมากกว่าห้องสมุดเป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบข้อมูลในกลุ่มประเทศ ASEAN และชี้ให้เห็นว่าเราสามารถได้ข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาห้องสมุดโดยการทำโพล

Dr. John Barrie /Turnitin ได้มาชี้ประเด็นเรื่องการลอกผลงานทางวิชาการทั้งในระดับนักศึกษาและนักวิชาการ โดยให้เห็นเครื่องมือที่สามารถจับการซ้ำของข้อมูลได้

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตลาดนัดความรู้: การนิเทศงานสหกิจ เครือข่ายสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน (C7)

ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ตลาดนัดความรู้: การนิเทศงานสหกิจ
เครือข่ายสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน (C7)
3 -4 กันยายน 2553 พีซลากูน่ารีสอร์ท อ่าวนาง กระบี่


ลักษณะการดำเนินการคือให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองเคยทำแล้วประสบความสำเร็จในการนิเทศสหกิจ โดยแยกเป็นกลุ่มๆ แล้วกลุ่มคุณอำนวยช่วยกันสกัดความรู้ออกเป็นกลุ่ม ได้ 10 กลุ่ม

ในวันแรกมีกิจกรรมทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์มีป๊อปและอ๊อดช่วยกิจกรรม อ.วัลลาเป็นวิทยากรกระบวนการ ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยแบ่งการพูดคุยออกเป็นฐาน ก่อนไปสหกิจ ระหว่างปฏิบัติงานสหกิจ และหลังสหกิจศึกษา ผลที่ได้ได้ความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม และได้ขุมความรู้ออกมาเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ช่วงกลางคืนทีมวิทยากรมาช่วยกันสกัดขุมความรู้เป็นกลุ่ม


ในวันที่สอง อาจารย์ทิพย์วัลย์สรุปความคาดหวังของผู้เข้าร่วมประชุมออกมาในรูป mind map พบว่าผู้เข้าสัมมนามีความคาดหวังหลากหลาย เช่น มาเรียนรู้ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ จากนั้นอ.วัลลาแนะนำการสรุปความรู้เป็นตารางอิสรภาพ และสารธารแห่งปัญญา( River diagram )

กิจกรรมสิ้นสุดช่วงเที่ยงของวันที่สอง เนื้อหาที่ได้ทางสหกิจศึกษาจะทำการสรุปและใช้เป็นข้อมูลของเครือข่ายต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่อาจารย์ควรศึกษาเพื่อการเป็นอาจารย์ที่ดี

คิดมานานแล้วว่าเวลามีอาจารย์ใหม่เข้ามาในสำนักวิชา เขาควรจะรู้อะไรเพื่อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิมพ์ไว้เป็นไฟล์ แล้วลืมหายเรื่อยเลย กะว่าจะเขียนแล้ววางไว้ที่นี่จะได้ไม่หาย

1. workload และการคำนวณภาระงาน
2. รวมบริการประสานภารกิจ
3 โครงสร้างการทำงานของสำนักวิชา คณบดี ผู้ประสานงานหลักสูตร
4. การติดต่อขอความช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ การเดินทาง
5. แนะนำสถานที่ใน มวล. หน่วยงานที่สนับสนุน ศูนย์บรรณสารฯ ศูนย์คอมฯ
6. การทำงานกับศบศ. ขั้นตอนการเปิดรายวิชา ขออนุมัติเปิดสอน การสอน การตัดเกรด
7. สิทธิในการพัฒนาอาจารย์
8. ปัญหาของนักศึกษาปัจจุบัน กิจกรรมนักศึกษา ระบบกิจการนักศึกษา

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บนเส้นทางผู้บริหารสำนักวิชา”


โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บนเส้นทางผู้บริหารสำนักวิชา”
7 -8 กรกฏาคม 2553 ณ โรงแรมขนอมโกลเด้นบีช


7 กรกฏาคม 2553 11: 20 น.

อธิการบดีกล่าวเปิดการสัมมนา

ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอยู่ที่สำนักวิชา ซึ่งถ้าลงระดับบุคคลจะหมายถึงอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยจึงเน้นการบริหารวิชาการเป็นหลัก มี 3 เรื่องที่คาดหวัง

1. คณบดีเป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นภาพลักษณ์ของสำนักวิชา บริหารหน่วยวิชาการจำเป็นต้องรู้เรื่องวิชาการ มีความโดดเด่นในสาขาของตัวเอง มีประสบการณ์ มีความตั้งใจเรียนรู้เพื่อปฏิบัติงาน


2. คณบดีเป็นผู้บริหารร่วมกับคณะกรรมการสำนักวิชา (ศูนย์ สถาบัน ผอ.มีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จ คณะกรรมการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต่างกับสำนักวิชา) บริหารในสองกลุ่มคือ
1) บริหารวิชาการ ได้แก่ การรับนักศึกษา หลักสูตร ประสิทธิภาพการเรียนการสอน กิจกรรมนักศึกษา การให้คำแนะนำกับนักศึกษา การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคมตามความสามารถ โดยทำสามอย่างคือ 1. วางแผน 2. กำกับงานให้เป็นตามแผน และ 3. สนับสนุน
2) บริหารงานธุรการ เป็นงานรอง มีสี่เรื่องคือ 1. ธุรการทั่วไป 2.บุคคล บริหารอาจารย์ให้ทำงานอย่างดีมีความสุขได้อย่างไร ( ปกติอาจารย์มหาวิทยาลัยจะสั่งไม่ได้) ระบบสั่งการใช้ไม่ได้ผล 3. การเงิน ให้กำกับสนับสนุนการใช้ คณบดีมีอำนาจในวงเงินจำนวนหนึ่ง 4. พัสดุ


3. คณบดีควรทำความเข้าใจในสามเรื่องใหญ่ คือ 1. หลักการในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2. รวมบริการประสานภารกิจ อย่าขีดวงเล่น ให้ช่วยกันสนับสนุน 3. บริบทและวัฒนธรรมองค์กร เช่นการทำงานแต่ก่อนงานจะไม่เห็นงานจนกว่าจะถึงเวลา วัฒนธรรมเถียงกันก่อนทำงาน เป็นต้น

สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ อยากให้คณบดีแสวงหาคนรุ่นใหม่ที่จะทำหน้าที่แทนในอนาคต ดูอาจารย์ที่มีศักยภาพมาถ่ายทอดความรู้


อธิการบดีจะจัดให้มีการพบปะลักษณะนี้ให้มากขึ้น ให้ช่วยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และขอขอบคุณหน่วยพัฒนาองค์กรที่จัดงานได้รวดเร็วตามความต้องการ และขอเปิดการประชุม

รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน( ดร.กีรัตน์ สงวนไทร) ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนา

รอบนี้เป็นรอบปัญหาที่จะมาเคลียร์กัน เริ่มจาก อ.วิจิตรจะมาให้แนว หลังจากนั้นอ.กีรัตน์จะทบทวนบริบทของวลัยลักษณ์ หลังจากนั้น 16 – 18 น. คือการยกประเด็นจากเวทีต่างๆมาคุยกัน เปิดใจกันว่าทำไมเรื่องนี้เป็นแบบนี้ ไม่ต้องมีลำดับการพูด จัดวงเป็นตัวยู วงในเป็นวงคณบดี วงนอกคือวงสนับสนุน แต่ไม่มีการตอบคำถามของฝ่ายสนับสนุนในรอบนี้

พรุ่งนี้จะเป็นการจัดหมวดหมู่ เช่นเป็นเรื่องการเรียนการสอน หรือการบริหาร หรือ การเงินพัสดุ เพื่อนำไปสู่ช่วงไขข้อข้องใจ ช่วงสุดท้ายจะอยู่หลังอาหารเที่ยง ใช้เวลาทั้งหมดประมาณหนึ่งวันครึ่ง

เอกสารที่ให้ประกอบจะมีข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องการบริหารงานของคณบดี ลักษณะงานของคณบดี หลักการสำหรับความเป็นคณบดีที่มีประสิทธิผล

13:10 น.
ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน

วันนี้อาจารย์มาในฐานะผู้เคยทำงานที่นี่ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง เป็นบทบาทของผู้ออกแบบ มวล.เป็น ม ใหม่ที่จัดตั้งโดยนำแผนไปทำให้ผู้อนุมัติเห็นชอบ ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อภาคใต้ ต่อประเทศไทย และต่อโลก

ม มีลักษณะเป็นพหุกิจคือมีกิจหลายอย่างที่ต้องทำ โดย พรบ. เรามีภารกิจ 4 ด้าน การสอนผลิตบัณฑิต การวิจัย บริการวิชาการแก่ชุมชน และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

มวล. เป็นพหุกิจ องค์กรที่แบ่งจึงแบ่งตามภารกิจ เราจึงคิดถึงการจัดตั้งองค์กรเต็มรูป เป็นม แห่งที่สองของประเทศไทยที่มีแผนจัดตั้งสิบปี เมื่อต้องจัดองค์กรเต็มรูป ซึ่งอาจมองไม่เห็นในตอนแรก ทำไมต้องสร้างตึกทีละหลัง ในเมื่อเรามีแผนชัดเจนสำหรับสิบปี เราจึงได้งบจากรัฐบาลให้ค่าก่อสร้างประมาณ 2,400ล้านและมี commit 3 ปี ระบบของเราเอาการออกแบบวิชาการAcademic planningนำหน้าตามด้วย physical planning เช่น มวล.จะเป็น ม แบบไหน เราบอกว่าเป็น comprehensive univ
อะไรคือจุดเด่น เราจะทำเมืองมหาวิทยาลัย แปลว่าจะมีปฏิบัติการยี่สิบสี่ชั่วโมง เป็น residential เป็น ม ที่ไม่เคยหลับ จุดเด่นอีกอย่างคือ เป็น ม สมบูรณ์แบบ เป็นอุทยานการศึกษา (สุรนารีมีเทคโนธานี) เราทำแผนอุทยานการศึกษานำเนอรัฐบาลแล้วนำเสนอให้เป็นพระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาส 50 ปีของในหลวง เรามีเอกสารการจัดตั้งอุทยานชัดเจน เหล่านี้คือ academic plan แล้วดำเนินการต่อว่าต้องจัดสร้างอะไรเท่าไร เช่น ตึกกี่หลัง รองรับนักศึกษาเท่าใด

เราต้องการสำนักวิชาที่ต่างออกไป สร้างอาคารสถานที่รองรับการทำงานเหล่านี้ เรียกว่า รวมบริการประสานภารกิจ ม ต้องมีสำนักอธิการบดี ซึ่งเป็นหน่วยนโยบาย ทำงานบริหารทั่วไป ไม่มีหน้าที่เปิดสอน หน่วยที่ทำหน้าที่นี้คือสำนักวิชา ทำไมเราไม่เรียกว่าคณะ เพราะกลัวว่าจะนำพฤติกรรมเดิมแบบคณะเข้ามา จะได้ไม่ซ้ำกับที่เดิม ให้ freedom กับเรา ถ้าเรียกคณะจะมีการไปยกจากคณะใน ม เก่าๆมา เราไม่มีหน้าที่สร้าง ม เก่าเหมือนของเดิม เราควรสร้างทางเลือกใหม่ ความงอกงามของประเทศไทยอยู่ตรงนี้ คณะเป็นส่วนย่อยของวัด ไม่แน่ใจว่าเหมาะสมกับ ม หรือไม่ ตำแหน่งอธิการบดี คณบดีก็เป็นตำแหน่งพระ

เมื่อเราเลือกใช้สำนักวิชาต้องดูว่า ทำอะไร สอน วิจัยเฉพาะสาขาไม่ข้ามไปวิจัยนอกสาขา

สถาบัน ภารกิจเรื่องวิจัยมีสองส่วน ส่วนที่เป็นการวิจัยสหวิทยาการ จะนำคณะไปบริหารสำนักอื่นไม่สะดวก จึงต้องมีสถาบันดูแล

งานส่งเสริมวิชาการอีกส่วนหนึ่งซึ่งเราไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็เรียกว่าศูนย์ เป็นบริการพื้นฐานของการศึกษาส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นบริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ส่วนสำนักวิชาได้สำรวจแล้วมีสองแบบ แบบเบ็ดเสร็จ คือคณะทำภารกิจสี่ด้านทั้งหมด เป็นหน่วยรับจัดสรรเงินงบประมาณ งบอยู่ที่คณะ ต่างคนต่างมีอำนาจในการเบิกจ่าย คณะก็มีรายได้ คณะเอาเงินไปทำอะไรก็ได้ งบประมาณแผ่นดินก็ไปที่คณะยกเว้นส่วนที่ไปสำนักอธิการบดี มีทรัพยากร(อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์) และบริการเป็นของตนเอง แบบนี้ก็ไม่มีอะไรเสียถ้าทุกคณะได้รับการสนับสนุนเท่าเทียมกัน แต่ความจริงไม่ใช่เช่นคณะที่มีโรงเรียนสาธิต มีโรงพยาบาลจะได้เยอะ คณบดีต้องแข่งขันกัน มีความเหลื่อมล้ำกันเพราะใช้เงินขอใครของมัน ปัญหามากๆคือเรื่องทรัพยากรบริการมีมากแล้วไม่ได้ใช้ ใช้ไม่คุ้มค่า บางบริการทำได้จำกัดเพราะบุคลากรไม่มี บางที่มีของแต่ไม่ได้ใช้ก็ไม่ให้คนอื่นใช้ แต่สิ่งที่ต้องการคือเราซื้อเท่าที่ใช้ ไม่มีเกินจนเหลือ
อีกแบบคือแบบรวมบริการประสานภารกิจ เราเอาภารกิจมาตั้งว่ามีสี่อย่าง สำนักวิชาทำสองอย่างที่สำคัญแล้วมีอะไรที่สามารถทำร่วมกัน เขาต้องการเครื่องมือก็จะต้องมีเครื่องมือให้ใช้ เพราะฉะนั้นสำนักวิชาต้องทำภารกิจด้านวิชาการเป็นหลัก ทำภารกิจบริหารทั่วไปเท่าที่จำเป็น

เราต้องดูกันว่าแค่ไหนคือความพอดีของความสะดวก เช่น ค่าสอนพิเศษ สำนักวิชารู้ดีควรให้เขาเบิกจ่ายได้เลย ไม่ต้องมาเบิกทีละเรื่อง เพราะฉะนั้น เรื่องคนเรื่องเงินแม้จะรวมบริการประสานภารกิจก็ยังมีความจำเป็นต้องมองอำนาจบริหารให้ แต่ไม่มีกฎตายตัว แต่ต้องรักษาหลักการ

สิบปีแรกมวล.ใช้ศูนย์เป็นตัวรวมลักษณะรวมบริการประสานภารกิจ ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชมของสตง. หน่วยงานภายนอก ที่อื่นๆควรทำแต่ทำไม่ได้เพราะเป็นแบบเบ็ดเสร็จนานมาแล้ว ปัจจุบันจะมีห้องเรียนรวม ห้องประชุมรวมแต่โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นแบบเดิมจึงยังทำไม่ได้เต็มที่
ทำแบบนี้เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อความสะดวก ถ้าทำแล้วไม่สะดวก อย่ามี

สิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือการประสานภารกิจ หน่วยกลางต้องทำหน้าที่ประสานให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ผู้บริหารสำนักวิชา มีฐานะเป็นนักบริการวิชาการ Academic administrator (ในต่างประเทศแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ 1. academic administration อธิการ รอง หัวหน้าศูนย์ 2. Academic คณาจารย์ นักวิจัย 3. Non-academic ไม่ได้เป็นนักวิชาการ เราเรียกว่าเป็นหน่วยส่งเสริม) ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิการบดี (สภาจะทำงานในฐานะคณะบุคคล ต้องมีมติจึงจะให้ทำได้) กฎหมายระบุอีกว่าอธิการบดีมีอำนาจต่อไปนี้...) ถัดจากอธิการบดีคือผู้อำนวยการสำนักคือรองอธิการบดี

ต้องตีบทให้แตกว่าการบริหารวิชาการเป็นอย่างไร จะดึงมาบริหารเท่าไรจะต้องขึ้นกับอธิการบดี ซึ่งจะ share authority บางส่วนให้ จึงได้กำหนดว่าคนที่จะเป็นผู้บริหารสำนักวิชาจะต้องมีประสบการณ์ด้านวิชาการมาไม่ต่ำกว่าสามปี สิ่งสำคัญจึงต้องเรียนจากประสบการณ์ด้านสอนก็ได้ ด้านบริหารก็ได้ ผู้บริหารสำนักวิชาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะมีฐานะเป็นหัวหน้าหน่วยระดับหนึ่ง ในงานที่กี่ยวข้องมักต้องมีการตัดสินเกี่ยวกับวิชาการเสมอ

Career ของผู้บริหาร ต่างประเทศสามารถเลือกคนนอกได้ เมืองไทยเกือบร้อยเปอร์เซนต์ อธิการบดีจะคัดสรรจากรองอธิหารบดี หรือคณบดี ยิ่งบริหารสูงขึ้นไปเท่าไรจะเกี่ยวข้องกับการบริหารทั่วไปมากขึ้นเท่านั้น ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องคน เรื่องเงิน

มวล.มีการจัดสายงานเป็นบริหารวิชาการ คณาจารย์และส่งเสริม
งานของสำนักวิชาประกอบด้วยงานวิชาการ(การสอนการวิจัย) และงานบริหารทั่วไป ๖งบประมาณ การเงิน และการบริหารบุคคล)

ในที่นี้เป็นการบอกว่าออกแบบอย่างไร ไม่ได้บอกว่าแบบนี้จะดีกว่า เพราะการออกแบบเดิมเป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาลักษณะหนึ่ง ถ้าทำแล้วไม่ดีก็ต้องมาพูดกันและปรับแต่งให้ดี คงไม่ถึงกับโยนทิ้งทั้งหมด ผู้บริหารแต่ละยุคต้องปรับแต่ง

ช่วงบ่ายเป็นการให้ข้อมูลจากแต่ละสำนักวิชาว่ามีปัญหาในการบริหารจัดการอย่างไร คณบดีแต่ละสำนักวิชาเสนอปัญหาจากมุมมองของสำนักวิชาเช่น การพัฒนาบุคลากร และการทำ Infrastructure การจัดสรรรายได้คืนมาให้สำนักวิชา ควรมีกองทุนการพัฒนาอาจารย์ในสำนักวิชา การอนุมัติให้เปิดหลักสูตร ควรมี Infrastructure ตามมาตามกำหนดที่ต้องใช้ การรับรองปริญญาของสถาปัตยกรรมศาสตร์ อยากได้ Input ที่ดีมีพื้นฐาน การบริหารงบของสำนักวิชา 300,000 บาทไม่จำเป็นต้องเท่ากัน การบริหารโครงสร้างในหลักสูตรมีความจำเป็นไม่เท่ากัน การทำ SAR สัดส่วนการจบปริญญาโท/เอก มีค่าต่ำกว่าที่ควร เห็นด้วยกับอ.สุวัจนาเรื่องกองทุนสำนักวิชา สุขภาพ การสนับสนุนการเรียนการสอน เช่นปัญหาในการใช้ห้องที่แอร์เสีย คุณภาพนักศึกษาที่เข้าเรียนด้อยลง เริ่มมีปัญหา ประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยให้มี active learning สำนักวิชาทำ PBL มีคณาจารย์ไม่เพียงพอ
โครงสร้างสำนักวิชา ความโดดเด่นของสาขาวิชาชีพ การมีโอกาสเข้าเป็นกรรมการในการพัฒนาสำนักวิชา ทุนการศึกษาของอาจารย์ มหาวิทยาลัยควรมีกองทุนในการพัฒนาอาจารย์

ภาพรวมจะเห็นปัญหาที่แต่ละสำนักวิชามีร่วมกัน

8 กรกฏาคม 2553

ช่วงเช้าเป็นการสรุปปัญหาของแต่ละสำนักวิชา คณบดีทุกสำนักวิชาให้ข้อมูลและรายละเอียด

โดยเริ่มประเด็นในเรื่องโครงสร้างการบริหารสำนักวิชา มีหลากหลายปัญหา เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์และเจ้าหน้าที่ พื้นที่การทำงาน อัตรากำลัง อุปกรณ์ใช้งาน หัวข้อ
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ให้ข้อสรุปว่า

1. เสนอว่าทางออกคือ จะมีผู้บริหารวิชาการระดับรองจากคณบดี หรือหัวหน้าสาขาแต่จะเรียกแบบไหนค่อยคุยกัน สำนักละกี่คนก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป

2. การบริหารงานทั่วไป หรือการบริหารงานสำนัก ควร reengineering ในเชิงโครงสร้างในเรื่อง 1. กำลังคน 2.ศักยภาพ เช่น การร่างหนังสือ 3. ความชัดเจนในกระบวนการทำงานในสำนักวิชาว่าใครทำอะไร 4.ที่ตั้งเชิงกายภาพไม่ใช่ประเด็น ไม่มีข้อจำกัด แล้วแต่สำนักวิชา


วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รายงานการเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง


รายงานการเยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง

วันที่ 8 มิถุนายน 2553


ข้อมูลทั่วไป


มหาวิทยาลัยฮ่องกงมีห้องสมุดหลัก และห้องสมุดเฉพาะเช่น ห้องสมุดแพทย์ ห้องสมุดดนตรี ในที่นี้เป็นข้อมูลของห้องสมุดกลาง ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 เป็นอาคารเอกเทศขนาดใหญ่ 6 ชั้นแบ่งเป็นปีกตึกเก่า และตึกใหม่ มีที่นั่งประมาณ 1,600 ที่นั่ง โดยมีการปรับปรุงล่าสุดให้พื้นที่โถงชั้นล่างเป็น Knowledge Navigation Centre (KNC) ในลักษณะ One stop shop ให้บริการการใช้งานคอมพิวเตอร์ประมาณ 130 เครื่อง ใช้ระบบห้องสมุด INNOPAC ใช้ RFID ใช้เครือข่าย WiFi มี self check 5 เครื่อง มีการแบ่งโซนการให้บริการเป็นโซนสีเหลือง (อนุญาตให้มีเครื่องดื่ม แต่ไม่อนุญาตให้กินอาหาร หรือใช้เสียง) สีเขียว ( อนุญาตให้กินอาหารว่างได้) และสีแดง (อนุญาตเฉพาะน้ำ) ห้องสมุดเป็นห้องสมุดเก่าแก่ มีหนังสือมาก แต่มีการใช้งานอุปกรณ์เก่าและใหม่ผสมผสาน เช่นมีชั้นเก็บหนังสือที่ควบคุมการเลื่อนด้วยไฟฟ้า การปรับปรุงชั้นดาดฟ้าให้เป็นสวน การนำชิ้นงานศิลปะมาจัดแสดงในห้องสมุด ห้องสมุดนี้ไม่เปิดบริการแก่คนภายนอก




การให้บริการ

นอกเหนือจากการให้บริการของห้องสมุดตามปกติ รวมถึงการให้บริการสื่ออิเลคทรอนิคส์ ห้องไมโครฟิมล์ ไมโครฟิช ห้องสมุดหนังสือหายาก สิ่งอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่

- บริการยืมหนังสือ นักศึกษาปริญญาตรียืมได้ 60 เล่มเป็นเวลา 60 วัน Postgraduate ยืมได้ 180 เล่มเป็นเวลา 120 วัน อาจารย์ยืมได้ 400 เล่มเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้หนังสือในห้องสมุดมีประมาณ 2.7 ล้านเล่ม

- บริการถ่ายเอกสาร และใช้เครื่องพิมพ์ การถ่ายเอกสารคิดค่าใช้บริการ 30 เซ็นต์ต่อหน้า นักศึกษาสามารถใช้บัตรเงินสด Octopus ได้

- Knowledge Navigation Centre เป็นที่ค้นคว้าด้วยคอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถใช้งานเพื่อทำการบ้านหรือค้นข้อมูลได้ มีเครื่องสแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์

- E-Learning Lab เป็นห้องประชุม ห้องอบรม มีโน้ตบุ๊กประจำห้อง 46 ที่นั่ง

- 24-Hour Group Study Area เป็นห้องที่นักศึกษาสามารถใช้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง สามารถนอนในบริเวณได้ มีตู้กดเครื่องดื่มและอาหารว่างให้บริการ

ตารางเปรียบเทียบระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยฮ่องกง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Knowledge Navigation Centre (KNC) ในลักษณะ One stop shop ประมาณ 130 ที่นั่ง

Self Assessment room จำนวน 2 ห้อง ให้บริการในลักษณะเดียวกัน ประมาณ 80 ที่นั่ง

Self check 5 เครื่อง

Self check 2 เครื่อง เพิ่งให้ใช้บริการได้ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2553

E-Learning Lab

ไม่มี e-learning lab เฉพาะ แต่ใช้ห้องSelf assessment และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของศูนย์คอมพิวเตอร์

บริการถ่ายเอกสาร และใช้เครื่องพิมพ์ โดยใช้บัตรเงินสด

กำลังอยู่ระหว่างการจัดหา คาดว่าจะใช้บริการได้ประมาณเดือนตุลาคม 2553 (ในกรณีให้บริการโดยไม่ใช้บัตรเติมเงิน มีบริการอยู่แล้ว)

24-Hour Group Study Area

ยังไม่มีการให้บริการ 24 ชั่วโมง (ภาคการศึกษาที่ผ่านมาเริ่มทดลองให้บริการถึงเที่ยงคืนในช่วงก่อนสอบ มีผลการตอบรับดี)

ข้อเสนอแนะ

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นห้องสมุดเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์คงไม่สามารถให้บริการได้ในสเกลเดียวกัน แต่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระดับเดียวกันได้ สิ่งที่สามารถดำเนินการต่อเช่น การใช้ RFID การให้บริการถ่าย/พิมพ์เอกสารด้วยตนเอง การปรับเวลาให้บริการ ในส่วนอื่นๆมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในสเกลที่เล็กกว่าเท่านั้น



วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาตลอดชีวิต

30 พฤศจิกายน 2553 ประชุมร่วมกับอาจารย์จากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

เพื่อชี้แจงโครงการและจัดเตรียมการจัดทำหลักสูตรเทคนิคการดูแล

ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ได้ขอให้อาจารย์ศึกษาข้อมูลในเว็บของ TCU

และสมัครเรียนก่อนเพื่อดูลักษณะของงาน

ประชุมครั้งต่อไปกำหนดเป็นวันที่ 6 มกราคม 2554

เวลา 13:00 น. -15:00น.

11 พฤศจิกายน 2553 ขอคำปรึกษาจาก ดร. อนุชัย/TCU


21 ตุลาคม 2553 ประชุมเครือข่าย TCU


5 ตุลาคม 2553 ทราบว่าโครงการได้รับการอนุมัติ


มิถุนายน 2553

ตอนนี้มีงานเข้าเรื่องการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เป็นโครงการที่เสนอให้

มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพิ่งได้ข้อมูลมาวันที่ 22 เมื่อวานก็เขียนโครงการ

ให้ศูนย์คอมนำไปประสานก่อน ต่อไปต้องเข้าไปร่วมทำงานด้วย

ข้างล่างนี้เป็นบันทึกข้อความนำเสนอเรื่องและต่อไปก็เป็นตัวโครงการที่

เสนอขอการสนับสนุน


บันทึกข้อความ

เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนในเรื่องการเสนอโครงการเพื่อต่อยอด

เกี่ยวกับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล

และการสื่อสาร ซึ่งหากโครงการผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัย

ไซเบอร์ไทย จะใช้งบในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปในเฟสแรกไม่เกิน

หนึ่งล้านบาท เครือข่ายมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการโครงการพัฒนา

ความรู้และการศึกษาตลอดชีวิต จำนวน5 หลักสูตร โดยกิจกรรมที่

ดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา การจัดการเรียนการสอน

และให้บริการ การพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในเครือข่าย และการ

พัฒนาบุคลากรการศึกษา


ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ประสานงานและเสนอให้มีเครือข่ายย่อยชื่อ เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน (กำลังขอจัดตั้ง) และดำเนินการร่างโครงการตามข้อตกลงจากการประชุมเครือข่ายในส่วนการจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา และการพัฒนาบุคลากรเพื่อผลิตสื่อออนไลน์ เพื่อเสนอโครงการนี้ขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย



โครงการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเรียนการสอนออนไลน์

เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน

----------------------------------------------------------------------

ความเป็นมา

ตามที่ได้มีการดำเนินการร่วมกันภายในเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัย และวิทยาลัย จำนวน 9 แห่ง เพื่อจัดการศึกษาตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีทางไกลและแบบผสมผสานในห้องเรียน และเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาระหว่างเครือข่ายและมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เครือข่ายมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการโครงการพัฒนาความรู้และการศึกษาตลอดชีวิต จำนวน 5 หลักสูตร โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรและเนื้อหา การจัดการเรียนการสอนและให้บริการ การพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในเครือข่าย และการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

สถาบันการศึกษาในเครือข่ายจำนวนหนึ่งมีความพร้อมระดับหนึ่งในการดำเนินการ และบางสถาบันยังขาดความพร้อมเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร อย่างไรก็ตามทุกสถาบันเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน คนทำงานที่ต้องการพัฒนาความรู้เพิ่มเติมและนักศึกษา เพื่อการดำเนินการไปสู่เป้าหมายจึงเห็นควรให้มีการดำเนินการเป็นลำดับโดยเริ่มจากการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการผลิตสื่อ ด้านการดูแลระบบ ด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้

เครือข่ายจึงพัฒนาโครงการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ได้หลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินการต่อไปได้

ผู้รับผิดชอบโครงการ

เครือข่ายมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยภาคใต้ตอนบน

รายละเอียดการดำเนินการ

1. การพัฒนาหลักสูตร

1.1. พัฒนาเนื้อหารายวิชาที่มีที่สอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาค

1.2. ผลิตสื่อการสอนออนไลน์ของหลักสูตร

1.3. เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในลักษณะออนไลน์

2. การพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตสื่อและการจัดการเรียนการสอน

2.1. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมอาจารย์ผู้สอน

2.2. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมผู้ดูแลระบบ

2.3. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและจัดอบรมผู้สนับสนุนการผลิตสื่อ

ตัวชี้วัด

1. หลักสูตร

1.1. มีหลักสูตร เนื้อหาวิชา และสื่อการสอนออนไลน์ จำนวนอย่างน้อย 5 วิชาๆ ละ 15 ชั่วโมง

1.2. มีสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2. การพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตสื่อและการจัดการเรียนการสอน

2.1. มีหลักสูตรอบรมพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนการสอนออนไลน์จำนวนอย่างน้อย 2 หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงการอบรม

2.2. มีหลักสูตรอบรมผู้ดูแลระบบ จำนวนอย่างน้อย 1หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงการอบรม

2.3. มีหลักสูตรอบรมผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ จำนวนอย่างน้อย 2หลักสูตร โดยนับจำนวนชั่วโมงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงการอบรม

2.4. มีผู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการตามกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นบุคลากรของสถาบันในเครือข่ายหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

2.4.1. อาจารย์ผู้สอน 50 คน

2.4.2. ผู้ดูแลระบบ 30 คน

2.4.3. ผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ 50 คน

งบประมาณในการดำเนินการ

1. พัฒนาหลักสูตรและจัดทำรายวิชาจำนวนอย่างน้อย 5 วิชา คิดเป็น 150,000 บาท

2. จัดทำสื่อการสอน 5 หลักสูตรๆ ละ 60,000 บาท คิดเป็น 300,000 บาท

3. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมอาจารย์ผู้สอน 150,000 บาท

4. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมผู้ดูแลระบบ 100,000 บาท

5. พัฒนาหลักสูตรอบรมและจัดการอบรมผู้ผลิตสื่อการสอน 150,000 บาท

6. ประชาสัมพันธ์และนำสื่อเข้าระบบเพื่อทดสอบ 150,000 บาท

รวม __ 1,000,000 บาท

หมายเหตุ ถัวจ่ายทุกรายการ

ระยะเวลาดำเนินการ

กรกฏาคม 2553 มีนาคม 2554

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. มีหลักสูตรและรายวิชาสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนและผู้ต้องการศึกษา

2. มีสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ต้นแบบ

3. สถาบันในเครือข่ายสามารถใช้สื่อที่จัดทำขึ้นในการเรียนการสอนของสถาบันผ่าน e-Learning

4. มีระบบสนับสนุนอาจารย์ผู้สอนในการจัดทำหลักสูตร รายวิชา และผลิตสื่อการเรียนการสอน

5. มีเครือข่ายผู้ดูแลระบบเพื่อสนับสนุนการดูแลระบบในเครือข่าย

6. มีเครือข่ายผู้สนับสนุนการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ที่สามารถช่วยการผลิตรายวิชาอื่นในอนาคต

====================================================